สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 24 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันป่าชุมชนแห่งชาติ
พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนได้ร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บํารุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนในรูปแบบของป่าชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการป่าชุมชนและได้ประโยชน์จากป่าชุมชน อันจะส่งผลให้ชุมชนดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศให้มีความสมบูรณ์และยั่งยืน
การประกาศให้มีวันป่าชุมชนแห่งชาติ เป็นการกําหนดวันในเชิงสัญลักษณ์สําหรับการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ รณรงค์การจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าชุมชน ตลอดจนให้ทุกภาคส่วน ได้น้อมรําลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ในด้านการส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ สมดังเจตนารมณ์พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ที่มุ่งหมายให้ชุมชนสามารถจัดการป่าชุมชนและได้ประโยชน์จากป่าชุมชน อันจะส่งผลให้ชุมชนดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศให้มีความสมบูรณ์และยั่งยืน ซึ่งพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 เป็นจุดเริ่มต้นสําคัญที่เปิดโอกาสให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมดูแลผืนป่า และใช้ประโยชน์จากป่าไม้ที่ร่วมกันอนุรักษ์ได้สอดคล้องกับหลักวิชาการ และเป็นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม
ปัจจุบันมีป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน ที่ได้รับการส่งเสริมการจัดตั้งป่าชุมชน กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จํานวนมากกว่า 11,985 แห่ง รวมเนื้อที่ประมาณ 6.56 ล้านไร่ มีชุมชนร่วมบริหารจัดการป่ามากกว่า 13,634 หมู่บ้าน โดยชุมชนได้ร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บํารุงรักษา ตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนในรูปแบบของป่าชุมชน สอดคล้องกับวิถีชีวิต และขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น
จึงขอรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องเครือข่ายป่าชุมชน หน่วยงาน องค์กร และภาคประชาชน ตระหนักถึงความสําคัญของป่าชุมชนโดยร่วมกันจัดกิจกรรมการต่าง ๆ อาทิเช่น การปลูกต้นไม้การบํารุงรักษาป่าชุมชน การทําฝายชะลอน้ํา การลาดตระเวน หรือการทําแนวกันไฟ ในวันดังกล่าว เพื่อสืบสานพระราชปณิธานในการดําเนินการส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ ทําให้ป่าเกิดความอุดมสมบูรณ์ ยั่งยืน สืบทอด เป็นมรดกตกทอดไปสู่รุ่นลูก รุ่นหลานสืบไป
“ป่าชุมชน ป่ายั่งยืน ประชาชนได้ประโยชน์”